อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เรื่องเล็กๆ ที่ต้องเอาใจใส่
สำหรับการดูแลเรื่องอาหารการกินของผู้สูงอายุ จำเป็นจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะต้องรับประทานทุกวัน วันละ 3 มื้อแล้ว ผู้สูงอายุยังมีการเผาผลาญพลังงานได้ช้า และระบบย่อยอาหารทำงานได้น้อยลง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดูแลเรื่องนี้ ด้วยความระมัดระวัง
แม้ว่าความต้องการอาหารของผู้สูงอายุจะน้อยลง แต่ต้องให้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่เหมือนเดิม
และแต่ละคน ก็ชอบรับประทานอาหารที่ไม่เหมือนกัน ทั้งจากพื้นฐานทางศาสนา อาหารที่มีตามท้องถิ่น หรือผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว ต้องหลีกเลี่ยงอาการบางอย่างด้วย
ดังนั้น การเลือกสรรอาหาร ต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้
มีสารอาหารครบถ้วน ผู้สูงอายุยังคงต้องการสารอาหารที่ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ซึ่งได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และไขมัน อย่าให้ขาดสารอาหารใดสารอาหารหนึ่ง เพียงแต่ลดปริมาณลงในแต่ละมื้อ และควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเพิ่มเติมในเรื่องของอาหารที่มีแคลเซียม เพื่อช่วยซ่อมแซมกระดูก และวิตามินที่ช่วยบำรุงร่างกาย
เป็นอาหารที่เคี้ยวง่าย ผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องฟัน และระบบย่อยอาหาร ดังนั้นควรเลือกอาหารอ่อนๆ ที่สามารถเคี้ยวได้ง่าย และย่อยง่ายด้วย
ผัก ผลไม้ที่มีวิตามิน สำหรับการบำรุงวิตามิน และแร่ธาตุให้กับคนสูงวัย ที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพถดถอยของอวัยวะต่างๆ ที่ใช้งานได้น้อยลง ควรให้รับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ เช่น ผักใบเขียว มีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตาที่ฝ้าฟางได้ วิตามินซีจากผลไม้ ช่วยป้องกันหวัดได้ เป็นต้น แต่ผักควรต้มให้สุกก่อนรับประทาน จะได้ย่อยง่ายมากยิ่งขึ้น ควรงดผลไม้ที่รสหวานจัด เช่น ทุเรียน น้อยหน่า ลำไย กล้วยน้ำว้า เป็นต้น แต่กไม่ถึงกับรับประทานไม่ได้ เพียงแต่เลือกรับประทานเพียงเล็กน้อย ให้หายอยากก็พอ
งดของหวาน แป้ง และไขมัน แม้ว่าไขมันจะมีประโยชน์แก่ร่างกาย แต่หากรับประทานเข้าไปมากๆ เรับประทานกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ไขมันพวกนี้ก็จะไปสะสมอยู่ในร่างกาย และอาจจะทำให้เกิดโรคต่างๆได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
อาหารที่แสลงกับโรค สำหรับบางคนที่มีโรคประจำตัว มักจะมีอาหารบางอย่าง ที่ไม่สามารถรับประทานได้ เช่น
- โรคเบาหวาน ก็ควรงดเว้นอาหารจำพวกแป้ง อาหารรสหวาน หรืออาหารที่มีคอเรสเตอรอลสูง
- โรคหัวใจและโรคไต ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือเค็มจัด
- โรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีคอลเรสเตอรอลสูง เช่น พวกอาหารมันๆ ทั้งหลาย เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา และไม่ควรรับประทานลำไย ขนุน ทุเรียน หรือผลไม้ที่มีรสหวานมากๆ
- โรคเกาต์ ไม่ควรรับประทานหน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง
อาหารตามศาสนา บางคนมีความเชื่อ และนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน เช่น ศาสนาอิสลามไม่รับประทานเนื้อหมู หรืออาหารที่มีส่วนผสมที่ปรุงมาจากหมู บางคนนับถือเจ้าแม่กวนอิม ก็ไม่รับประทานเนื้อวัว เป็นต้น ดังนั้น ก่อนเตรียมอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีความเชื่อต่างๆ นี้ จะต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานในเรื่องนี้ด้วย
นั่นคือเรื่องหลักๆ เกี่ยวกับอาหารสำหรับผู้สูงอายุ หที่ควรได้รับ และในส่วนในการปรุงอาหารสำหรับคนสูงวัย ซึ่งจะต้องมีความสะอาด และพิถีพิถันเป็นพิเศษ
เพราะร่างกายของท่านเหล่านี้ เริ่มภูมิต้านทานโรคลดลง และอาจจะเจ็บป่วย ได้ง่ายกว่าคนวัยทำงานหรือวัยรุ่น และแนะนำว่าว่าไม่ควรดื่มน้ำชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มพวกนี้มีสารกระตุ้นประสาท อาจจะทำให้นอนไม่หลับได้